ในปี 2517 กลุ่มทหาร Provisional Military Administrative Council (PMAC) นำโดย พันเอก เมนกิซตุ ไฮลี มาริยาม (Colonel Mengistu Haile Mariam) ทำการปฏิวัติยึดอำนาจและโค่นล้มระบอบกษัตริย์ มาริยามรับเอาลัทธิมาร์กซิสต์และเลนิน (Marxist-Leninist ideology)มาใช้ในการปกครอง ซึ่งเป็นที่ไม่พอใจของนักวิชาการและผู้มีการศึกษาในระยะเวลาต่อมา ก่อให้เกิดการวิพากวิจารณ์จนกระทั่งก่อเป็นความรุนแรงขึ้นภายในประเทศ มาริยามใช้กำลังเข้าควบคุมสถานการณ์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึงประมาณ 100,000 คนและอีกหลายร้อยคนอพยพออกนอกประเทศ
ต่อมาในปี 2534 (ค.ศ. 1991) พรรค Ethiopian People's Revolutionary Democratic Front (EPRDF) ซึ่งนำโดยนายเมเลส เซนาวี (Meles Zenawi) ได้ยึดอำนาจทางการเมืองจากพันเอก เมนกิซตุ ไฮลี มาริยาม ได้สำเร็จและนับแต่นั้นมา EPRDF มีอิทธิพลอย่างสูงในการเมืองภายในประเทศเอธิโอเปีย โดยได้รับเลือกตั้งเป็นพรรครัฐบาลเสียงข้างมากในทุกสมัยการเลือกตั้ง ในปี 2538 (ค.ศ. 1995) ปี 2543 (ค.ศ. 2000) ปี 2548 (ค.ศ. 2005) และล่าสุดปี 2553 (ค.ศ. 2010)
การเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 (ค.ศ. 2010) พรรค EPRDF ได้ที่นั่งในสภาร้อยละ 99 และนายเมเลส เซนาวี ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 4 ติดต่อกัน ชัยชนะจากการเลือกตั้งสะท้อนให้เห็นว่า สถานะของรัฐบาลมีความมั่นคงอย่างมาก ส่วนฝ่ายค้านถูกจำกัดบทบาทและถูกควบคุมจนไม่สามารถเคลื่อนไหว
เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2555 นายเมเลส เซนาวี ถึงแก่อสัญกรรม และเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2555 นายไฮเลอมาเรียม เดอซาเลนย์ (Hailemariam Desalegn) ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเอธิโอเปียภายใต้นายเซนาวี ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการสืบต่อจากนายเซนาวี และได้สาบานตนเข้าดำรงตำแหน่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2555 ภายหลังจากที่พรรค Ethiopian People’s Revolutionary Democratic Front (EPRDF) ของรัฐบาล ได้รับรองให้นายเดอซาเลนย์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจนกว่าจะมีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไปในปี 2558ล่าสุด นายเดอซาเลนย์ได้ประกาศปรับคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2555
เอธิโอเปียมีรูปแบบการปกครองแบบสหพันธรัฐ โครงสร้างการปกครองแบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ฝ่ายบริหาร ประธานาธิบดี ซึ่งเป็นประมุขของรัฐมาจากการเลือกตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎรและอยู่ในตำแหน่ง คราวละ 6 ปี การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปจะมีขึ้นในเดือนตุลาคม 2558 (ค.ศ. 2015) พรรครัฐบาลที่ได้มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ประกอบด้วย 2 สภาได้แก่ สภาแห่งสหพันธรัฐ (the House of Federation) ซึ่งเทียบเท่ากับวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร (House of People's Representatives
เอธิโอเปียแบ่งเขตการปกครองเป็น 9 รัฐตามชนเผ่าในพื้นที่ และ 2 เขตการปกครองพิเศษ ได้แก่ (1) รัฐ Tigray (2) รัฐ Afar (3) รัฐ Amhara (4) รัฐOromia (5) รัฐ Somali (Ogaden) (6) รัฐ Benishangul-Gumuz (7) รัฐ Southern Nations Nationalities and People Region (SNNPR) (8) รัฐ Gambella (9) รัฐ Harari (10) เขตการปกครองพิเศษกรุง Addis Ababa และ (11) เขตการปกครองพิเศษเมือง Dire Dawa
นโยบายต่างประเทศ
ในอดีตรัฐบาลทหารเผด็จการของเอธิโอเปียดำเนินนโยบายซ้ายจัดในกลุ่มนิยมสหภาพโซเวียต เพื่อรับการสนับสนุนด้านการทหารจากโซเวียตในการต่อต้านโซมาเลียและปราบปราม กบฏแบ่งแยกดินแดน อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันรัฐบาลเอธิโอเปียได้ประกาศนโยบายเคารพสิทธิและความเท่าเทียมกัน ของรัฐ และการไม่แทรกแซงกิจการภายในของผู้อื่น เอธิโอเปียมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตก นอกจากนี้ เอธิโอเปียเป็นพันธมิตรทางการเมืองของสหรัฐฯ และชาติตะวันตกในการต่อต้านการก่อการร้ายในภูมิภาค Horn of Africa
ด้วยประเทศเอธิโอเปียไม่มีทางออกสู่ทะเลภายหลังเอริเทรียแยกเป็นเอกราช เอธิโอเปียจึงใช้จิบูตีเป็นเส้นทางออกทะเล โดยเอธิโอเปียและจิบูตีได้สัญญาอนุญาตให้บริษัทเดินเรือทะเลของเอธิโอเปียใช้ท่าเรือจิบูตี นอกจากนี้ มีเส้นทางรถไฟระหว่างจิบูตีและเมือง Dire Dawa ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของเอธิโอเปีย และขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแผนขยายเส้นทางรถไฟไปยังกรุงแอดดิสอาบาบา
เอธิโอเปียมีนโยบาย Look East โดยต้องการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับประเทศในเอเชีย จีนได้เข้ามามีบทบาทมากในเอธิโอเปีย โดยเข้าไปดำเนินโครงการสร้างถนนตลอดจนสาธารณูปโภคต่างๆ นอกจากนี้ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ก็เข้าไปขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับเอธิโอเปียมากขึ้น ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่เอธิโอเปียประสงค์ให้ร่วมเป็นหุ้นส่วน (partnership) ที่สำคัญของเอธิโอเปีย
เอธิโอเปียถือเป็นเมืองหลวงของแอฟริกา เนื่องจากเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของสหภาพแอฟริกา (African Union - AU) นอกจากนี้ เอธิโอเปียยังเป็นสมาชิกของกลุ่มตลาดร่วมแห่งภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาตอนใต้ (Common Market for Eastern and Southern Africa - COMESA) นอกจากนี้ เอธิโอเปียยังได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าในการส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ดังนั้น การเชื่อมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้ากับเอธิโอเปียจึงเป็นการเชื่อม ความสัมพันธ์ทางการค้ากับ COMESA ตลอดจนสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาอีกด้วย
ปัญหาข้อพิพาทระหว่างเอธิโอเปียกับเอริเทรีย
ภายหลังจากแคว้นเอริเทรียแยกตัวจากเอธิโอเปียเป็นรัฐอธิปไตยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2536 (ค.ศ. 1993) รัฐบาลรักษาการของเอธิโอเปียกับรัฐบาลกลางเอริเทรียได้ทำความตกลงกันในด้าน การทหารและการไม่รุกรานซึ่งกันและกัน และได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และการให้เสรีภาพแก่ประชาชน การขนส่งสินค้าและการบริการผ่านดินแดนของกันและกัน อย่างไรก็ตาม การกล่าวอ้างสิทธิในการครอบครองดินแดนบริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศ ในดินแดนที่เรียกว่า Badme เป็นสาเหตุที่นำไปสู่ความบาดหมางอย่างรุนแรงระหว่างเอธิโอเปียและเอริเทรีย
การปะทะกันเพื่อแย่งชิงดินแดน Badme เริ่มขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2541 (ค.ศ. 1998) โดยทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวหากันว่าเป็นฝ่ายเริ่มใช้อาวุธโจมตีก่อน องค์การสหประชาชาติ สหรัฐอเมริกา และองค์การเอกภาพ แอฟริกา (Organization of African Unity - OAU ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็น African Union) ได้พยายามเข้า ไกล่เกลี่ยเพื่อระงับข้อพิพาทและการสู้รบของทั้งสองประเทศหลายครั้ง จนกระทั่ง เอธิโอเปียและเอริเทรีย ได้ยุติสงครามอย่างเป็นทางการด้วยการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างกัน เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2543 (ค.ศ. 2000) และได้จัดตั้ง Eritrea-Ethiopia Boundary Commission (EEBC) ภายใต้อาณัติของ Permanent Court of Arbitration เพื่อตกลงการแบ่งเขตดินแดนกันโดยสันติวิธี
อย่างไรก็ดี ทั้งเอธิโอเปียและเอริเทรียต่างก็ไม่ยอมรับการตัดสินชี้ขาดของ EEBC และยังมีการปะทะกันตามแนวชายแดนอยู่เนืองๆ ใขขณะเดียวกัน องค์การสหประชาชาติก็พยายามลดขนาดของกองกำลังรักษาสันติภาพ (UN Mission in Ethiopia and Eritrea - UNMEE) เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ทั้งสองฝ่ายหันหน้าเข้าเจรจาร่วมกัน และยุติการทำงานของ UNMEE เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2551 (ค.ศ. 2008) แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ
บทบาทของเอธิโอเปียในโซมาเลีย
เอธิโอเปียได้เข้าไปข้องเกี่ยวกิจการภายในโซมาเลียมาช้านาน โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ 1960 และ 1970 ทั้งสองประเทศได้ทำสงครามแย่งเขตแดนกันบ่อยครั้ง อย่างไรก็ดี รัฐ Ogaden ของเอธิโอเปียมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางเชื้อชาติกับประชากรของโซมาเลีย ดังนั้น เอธิโอเปียจึงยังพยายาม ใช้นโยบายควบคุมความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มต่างๆ ในโซมาเลีย ทั้งรัฐบาลรักษาการณ์โซมาเลีย Transitional Federal Government-TFG) และสนับสนุนรัฐ Somaliland และ Puntland ซึ่งเป็นดินแดนอิสระในโซมาเลีย
ในเดือนธันวาคม 2549 (ค.ศ. 2006) กองกำลังทหารของเอธิโอเปียได้รุกเข้าไปในโซมาเลียเพื่อโค่นล้มกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง (Union of Islamic Court - UIC) ซึ่งได้ยึดอำนาจทางภาคใต้ของโซมาเลียเกือบทั้งหมดไว้ตั้งแต่ต้นปี 2549 (ค.ศ. 2006) โดยเอธิโอเปียอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงและการก่อการร้ายโดยกลุ่ม UIC ซึ่งคุกคามต่อความมั่นคงของเอธิโอเปีย อย่างไรก็ดี ในเดือนสิงหาคม 2550 (ค.ศ. 2007) สหภาพแอฟริกา (African Union - AU) ได้ส่งกองกำลังทหารเข้าร่วมรักษาสันติภาพในโซมาเลีย และเมื่อนาย Sheikh Sharif Sheikh Ahmed ผู้นำกลุ่ม UIC ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีเมื่อเดือนมกราคม 2552 (ค.ศ. 2009) เอธิโอเปียจึงมีบทบาทในโซมาเลียลดลง