มอนเตเนโกร (อังกฤษ: Montenegro (วิธีใช้·ข้อมูล) ออกเสียง: /ˌmɒntɨˈneɪɡroʊ/; มอนเตเนโกร: Црна Гора (วิธีใช้·ข้อมูล) มีความหมายว่า "ภูเขาสีดำ") เป็นประเทศเอกราชซึ่งตั้งอยู่ในยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ มีอาณาเขตจรดทะเลเอเดรียติกและโครเอเชียทางทิศตะวันตก จรดบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาทางทิศเหนือ จรดเซอร์เบียทางทิศตะวันออก และจรดแอลเบเนียทางทิศใต้ มีพอดกอรีตซาเป็นเมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ
ในอดีต มอนเตเนโกรมีสถานะเป็นสาธารณรัฐในสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย และต่อมาได้เป็นส่วนหนึ่งในสหภาพการเมืองของเซอร์เบีย-มอนเตเนโกร หลังจากมีการลงประชามติเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 มอนเตเนโกรก็ได้ประกาศเอกราชในวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มอนเตเนโกรได้รับการกำหนดให้เป็น "รัฐประชาธิปไตย สวัสดิการ และสิ่งแวดล้อม"
ประวัติ
ประวัติศาสตร์ระยะแรกของชนเผ่ามอนเตเนโกรเริ่มปรากฏชัดเจนในคริสต์ศตวรรษที่ 10 ในฐานะเป็นรัฐกึ่งอิสระชื่อว่า ดูเคลีย (Duklija) ต่อมาจึงมีการสถาปนาระบอบกษัตริย์ขึ้น ซึ่ง สมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 7 ได้ทรงมีประกาศรับรองความเป็นอิสระของดูเคลีย และยอมรับพระเจ้ามีไฮโลแห่งดูเคลียอย่างเป็นทางการ เมื่อปี ค.ศ. 1077
ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 15 มอนเตเนโกรได้ถูกจักรวรรดิออตโตมันเข้ายึดครอง แต่ด้วยเหตุที่ว่าเป็นรัฐชายแดนทางตะวันตกของคาบสมุทรบอลข่าน อำนาจและอิทธิพลของจักรวรรดิจึงแผ่ขยายเข้าไปได้ไม่มากนัก กษัตริย์ของมอนเตเนโกรตั้งแต่ปลางยุคกลางจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 จึงมีอำนาจปกครองประเทศด้วยความอิสระพอควร
ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 กษัตริย์มอนเตเนโกร โดยพระเจ้านิโคลัสที่ 1 แห่งราชวงศ์นีเยกอช ทรงพยายามปลดแอกประเทศจากการอยู่ใต้อำนาจการปกครองของจักรวรรดิออตโตมันหลายครั้ง ซึ่งในที่สุดแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2421 (ค.ศ. 1878) รัสเซียซึ่งได้ทำสงครามกับจักรวรรดิออตโตมันได้รับชัยชนะและส่งผลให้มีการตกลงสนธิสัญญาซานสเตฟาโน ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้รัสเซียมีอิทธิพลมากขึ้นในกลุ่มรัฐบอลข่าน อังกฤษและออสเตรีย-ฮังการีจึงคัดค้านและนำไปสู่การประชุมใหญ่แห่งเบอร์ลิน เพื่อทบทวนสนธิสัญญาซานสเตฟาโนและจัดทำสนธิสัญญาเบอร์ลินขึ้นแทน ซึ่งสนธิสัญญฉบับนี้ส่งผลให้มอนเตเนโกรได้รับดินแดนเพิ่มเติมพร้อมเป็นเอกราชจากออตโตมัน
ความผันผวนทางการเมืองในคาบสมุทรบอลข่าน และกระแสชาตินิยมจากการเคลื่อนไหวของขบวนการอุดมการณ์รวมกลุ่มสลาฟ (Pan-Slavism) ได้นำไปสู่การเกิดสงครามบอลข่านสองครั้ง ระหว่างปี ค.ศ. 1912-1913 สงครามบอลข่านครั้งแรกเป็นสงครามระหว่างสันนิบาตบอลข่านซึ่งประกอบด้วยประเทศกรีซ บัลแกเรีย เซอร์เบีย และมอนเตเนโกร กับจักรวรรดิออตโตมันซึ่งผลที่ออกมาคือชัยชนะของสันนิบาต ส่งผลให้ทางออตโตมันต้องสูญเสียดินแดนในยุโรปเกือบทั้งหมด พร้อมยอมให้มีการจัดตั้งประเทศแอลเบเนียขึ้น แต่เนื่องด้วยความไม่พอใจของเซอร์เบียและมอนเตเนโกรเพราะต้องการผนวกดินแดนชายฝั่งของแอบเบเนียเพื่อเป็นทางออกทะเล และความไม่พอใจของบัลแกเรียที่ได้เห็นว่าเซอร์เบียได้รับผลประโยชน์มากกว่า บัลแกเรียจึงเปิดฉากสงครามบอลข่านครั้งที่ 2 ขึ้นในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1913 แต่ผลออกมาคือการพ่ายแพ้ของบัลแกเรีย ส่งผลให้เซอร์เบียและมอนเตเนโกรได้รับดินแดนเพิ่มเติมอีกประมาณหนึ่งเท่าของพื้นที่เดิมของประเทศ
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 มอนเตเนโกรได้เข้าสนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตรในการทำสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง แต่ด้วยกองกำลังที่เล็กเพียงประมาณ 5 พันคน กองกำลังมอนเตเนโกรจึงประสบความพ่ายแพ้ต่อกองทัพออสเตรีย-ฮังการี
เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2461 (ค.ศ. 1918) มอนเตเนโกรได้ตัดสินใจรวมประเทศเข้ากับราชอาณาจักรเซอร์เบีย ซึ่งในขณะนั้นเป็นแกนนำสำคัญในการรวมชนเชื้อสายสลาฟใต้เข้าด้วยกันหลังสงครามยุติและสถาปนา "ราชอาณาจักรแห่งชาวเซิร์บ โครแอต และสโลวีน" ขึ้น โดยมีสมเด็จพระราชาธิบดีอเล็กซานเดอร์ที่ 1 แห่งยูโกสลาเวีย แห่งราชวงส์คาราจอร์เจวิชเป็นประมุขแห่งรัฐ แต่ต่อมาในปี ค.ศ. 1924 พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 1 ทรงประกาศยุบสภาและปกครองด้วยระบอบเผด็จการ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น "ยูโกสลาเวีย" แต่ด้วยความไม่พอใจของชนชาติต่าง ๆ ในการปกครองแบบเผด็จการของพระองค์ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 1 จึงถูกลอบปลงพระชนม์โดยพวกโครแอตชาตินิยมในขณะที่เสด็จฯเยือน ประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. 1934 เจ้าชายปีเตอร์ที่ 2 พระราชโอรสวัย 11 ชันษาจึงเสด็จขึ้นครองบัลลังก์แทน
พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 1
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ยูโกสลาเวียถูกนานาประเทศเข้ายึดครอง ยอซีป บรอซ (Josip Broz) หรือตีโต (Tito) ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียจึงได้ก่อตั้งกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติเพื่อปลดปล่อยประเทศออกจากการยึดครอง ซึ่งในที่สุดก็สามารถปลดแอกตนเองออกมาได้ ส่วนตีโตนั้นได้รับการสนับสนุนให้เป็นผู้นำประเทศ ซึ่งเขาก็ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นระบอบสังคมนิยมแบบสหภาพโซเวียตวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2489 (ค.ศ. 1946) และเปลี่ยนชื่อประเทศใหม่เป็น “สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย” ซึ่งประกอบด้วย 6 รัฐ กล่าวคือ สโลวีเนีย โครเอเชีย เซอร์เบีย บอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา มอนเตเนโกร และมาซิโดเนีย และอีก 2 จังหวัดปกครองตนเอง คือ คอซอวอและวอยวอดีนา และถึงแม้ว่ามอนเตเนโกรจะรวมตัวอยู่กับยูโกสลาเวียซึ่งมีการปกครองในระบอบสังคมนิยม แต่มอนเตเนโกรก็มีอำนาจการปกครองภายในอย่างสมบูรณ์
การล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 (ค.ศ. 1989) ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชของรัฐต่าง ๆ ที่รวมตัวกันอยู่ในยูโกสลาเวีย รัฐโครเอเชีย สโลวีเนีย มาซิโดเนีย และบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา ได้ประกาศแยกตัวเป็นเอกราชเมื่อปี พ.ศ. 2534 (ค.ศ. 1991) แต่เซอร์เบียและมอนเตเนโกรกลับรวมตัวกันอยู่ดั่งเดิม พร้อมกับเปลี่ยนระบบการปกครองเป็นประชาธิปไตยแบบรัฐสภา เปลี่ยนชื่อประเทศเป็น "สหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวีย" และมีนายสลอบอดัน มีโลเชวิช (Slobodan Milosevic) เป็นประธานาธิบดีคนแรก ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2546 (ค.ศ. 2003) ได้มีการเปลี่ยนชื่อประเทศอีกครั้งเป็นเซอร์เบียและมอนเตเนโกร แต่ละรัฐมีอำนาจปกครองตนเองสูงสุด มีเพียงการทหารและการต่างประเทศที่รวมกันเป็นหลัก
เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ได้มีการลงประชามติเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชจากเซอร์เบีย โดยร้อยละ 55.4 ซึ่งเกินเกณฑ์ขั้นต่ำ (ร้อยละ 55) ที่สหภาพยุโรปกำหนดที่จะให้การรับรอง และด้วยเหตุนี้มอนเตเนโกรจึงประกาศแยกตัวเพื่อมาเป็นประเทศใหม่อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ปีเดียวกัน ปัจจุบันมอนเตเนโกรได้รับการรับรองจากนานาประเทศและเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติลำดับที่ 192 และองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ หลายองค์การแล้ว
การเมือง
ยู. แทรเวล วาเคชั่นส์ พร้อมให้บริการ ทัวร์ยุโรป ทัวร์มอนเตเนโกร ข้อมูลท่องเที่ยวยุโรป ท่องเที่ยวมอนเตเนโกร ตั๋วเครื่องบินสู่ประเทศยุโรป ประเทศมอนเตเนโกร จองโรงแรมที่พักยุโรป มอนเตเนโกร จัดประชุมสัมนาที่ประเทศยุโรป ประเทศมอนเตเนโกร งานแสดงสินค้าที่ประเทศยุโรป มอนเตเนโกร รถทัวร์ยุโรป มอนเตเนโกร ซ เรือสำราญยุโรป เรือสำราญมอนเตเนโกร วีซ่ายุโรป วีซ่าเช็งเก้น ศึกษาต่อยุโรป ศึกษาต่อประเทศมอนเตเนโกร