ทัวร์แอลจีเรีย เที่ยวแอลจีเรีย Tour Algeria
ทัวร์ต่างประเทศ : ประเทศแอลจีเรีย
VIDEO
วีดีโอทัวร์แอลจีเรีย
ทัวร์แอลจีเรีย Tour Algeria ยู. แทรเวล วาเคชั่นส์ ผู้บุกเบิกเส้นทางทัวร์แอลจีเรีย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 (ค.ศ. 2007) เรามีความชำนาญเส้นทางทัวร์แอลจีเรีย รู้ลึกรู้จริงในการทำทัวร์แอลจีเรีย และประเทศในตะวันออกกลาง ตลอดไปจนถึงประเทศในแถบแอฟริกา บริการทำแลนด์แอลจีเรียแก่บริษัททัวร์ทั่วประเทศ จัดทัวร์แอลจีเรียแก่นักท่องเที่ยวชาวไทยให้ได้สัมผัสถึงอารยธรรมโบราณซึ่งมีประวัติศาสตร์อันน่าสนใจ
ชื่อเสียงเรียงนามของประเทศ "แอลจีเรีย " สำหรับคนไทยแล้วคนไม่คุ้นหูเท่าไหร่นัก บางคนอาจจะไม่รู้เสียด้วยซ้ำไปว่า ประเทศนี้ตั้งอยู่ส่วนไหนของแผนที่โลก
แต่ถึงไม่รู้จักก็ไม่เป็นไร ลองตามไปทำคามรู้จักกับประเทศนี้พร้อมๆกัน ไม่แน่ว่า แอลจีเรีย อาจจะอาจเป็นอีกหนึ่งประเทศในฝันของคุณก็เป็นได้
ประเทศ"แอลจีเรีย" หรือ ชื่อเต็มว่า "สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนแอลจีเรีย" (People’s Democratic Republic of Algeria) เป็นประเทศที่อยู่ทางแถบทวีปแอฟริกาตอนเหนือ มีความใหญ่เป็นอันดับสองรองจากประเทศซูดาน ภาษาที่ใช้จะเป็นภาษาอาราบิกและภาษาฝรั่งเศส เพราะในอดีตประเทศ"แอลจีเรีย"เคยตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสมาก่อนและเป็นประเทศที่ติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ชื่อ "Algeria" มาจากชื่อเมืองหลวงคือ "แอลเจียร์" (Algiers) ชื่อนี้ในภาษอาหรับ แปลว่า "หมู่เกาะ" หมายถึง 4 เกาะ ที่อยู่นอกชายฝั่งของเมือง ก่อนกลายเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินใหญ่ ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนนี สินค้าส่งออกที่สำคัญได้แก่น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
ซึ่งแอลจีเรียเป็นประเทศที่มีก๊าซธรรมชาติสำรองมากเป็นอันดับที่ 5 และเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติรายใหญ่เป็นอันดับที่ 4 และมีน้ำมันสำรองมากเป็นอันดับที่ 14 ของโลก เมืองที่มีความสำคัญของประเทศ ได้แก่ เมืองโอราน เมืองชายฝั่งแห่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเป็นเมืองแห่งอุตสาหกรรมและศูนย์กลางการศึกษาของแอลจีเรีย และ เมืองคอนสแตนติน เมืองแห่งศูนย์กลางของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องหนังฟอก
ดินแดนแห่งนี้เรียกได้ว่ามีความครบครัน สำหรับผู้ที่แสวงหาท้องทะเลแสนงามสีครามสดใส และ การขี่อูฐบนผืนทรายอันแผดร้อน เพราะตอนบนของประเทศนั้นอุดมไปด้วยทิวทัศน์อันสวยงามของชายฝั่ง "ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน"(Mediterranean) ที่ตั้งขนานไปกับ "เทือกเขาแอตลาส" (Atlas) ซึ่งทอดตัวเป็นแนวยาวพาดผ่านตอนเหนือของทวีป
ถัดลงมาทางตอนใต้จะเป็นเขต "ทะเลทรายซาฮารา"(sahara) ที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ระดับโลกและเนินทรายที่สูงที่สุดในโลกอันเป็นที่สุดแห่งทะเลทรายซาฮาร่า ก็เร้นลึกอยู่ในเขตประเทศแอลจีเรียนี่เอง ซึ่งมีความสูงถึง 465 เมตร คือที่ Isaouane-N-Tifernine
ด้วยเหตุนี้แอลจีเรียจึงมีภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน คือ ร้อนและความชื้นสูงในช่วงฤดูร้อน(พ.ค.-ก.ย.) อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 30-38 องศาเซสเซียส ในบางครั้งอุณหภูมิในฤดูร้อนอาจสูงถึง 43องศาสเซสเซียสเลยทีเดียว ส่วนในฤดูฝนจะมีฝนตกหนัก โดยเฉพาะในช่วงเดือน พ.ย.-ม.ค. และอากาศจะเย็นในช่วง ธ.ค.-ม.ค. ซึ่งจะมีอุณหภูมิประมาณ 22-30องศาเซสเซียส
ตามประวัติศาสตร์ของแอลจีเรียนั้นระบุว่า ชนเผ่าดั้งเดิมของแอลจีเรีย คือ พวก "เบอร์เบอร์" (Berber) แอลจีเรียเคยอยู่ภายใต้การปกครองของพวกโรมันกว่า 500 ปี และในคริสต์ศตวรรษที่ 7 พวกอาหรับได้เข้ามายึดครองแอฟริกาเหนือ และได้เปลี่ยนศาสนาของพวกเบอร์เบอร์เป็นศาสนาอิสลาม ต่อมาในปี พ.ศ. 2373 ฝรั่งเศสได้รุกรานแอลจีเรีย และถือเอาแอลจีเรียเป็นส่วนหนึ่งของฝรั่งเศส และในระหว่างปีพ.ศ. 2497 – 2498 ได้มีการลุกขึ้นต่อต้านการยึดครองของฝรั่งเศสกับชาวอาหรับในแอลจีเรีย จนกลายเป็นสงครามใหญ่ และมีผู้เสียชีวิตกว่า 1 ล้านคน ในปีพ.ศ. 2505 ประธานาธิบดี Charles de Gaulle ของฝรั่งเศส ได้เจรจาสันติภาพกับแอลจีเรีย เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2505 แอลจีเรียจึงไปรับเอกราชปกครองตนเอง
ปัจจุบันแอลจีเรียป็นทำเลทองในการเชื่อมโยงการค้าขายระหว่างประเทศได้ดี เนื่องจากว่า แอลจีเรียมีพรมแดนใกล้กับทวีปแถบยุโรปเพียงแค่มีทะเลขวางกั้นเท่านั้นเอง หากจะติดต่อค้าขายกับประเทศแถบยุโรป เช่น อิตาลี ฝรั่งเศส หรือ สเปน ก็ง่ายนิดเดียว ดังนั้นแล้วดูเหมือนว่าประเทศแอลจีเรียจะเป็นด่านหน้าหรือว่าประตูในการขนส่งสินค้าจากแอฟริกาสู่ยุโรปได้เป็นอย่างดี
ในด้านการท่องเที่ยวนั้น แอลจีเรีย มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวจากชาติยุโรปตะวันตก ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวหลักนิยมเดินทางเข้ามาเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปี แต่เนื่องจากรัฐบาลของประเทศนี้ เพิ่งเริ่มดำเนินนโยบายสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทำให้แหล่งท่องเที่ยวยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร อีกทั้งยังมีอุปสรรคอีกหลายด้าน อาทิ การขาดแคลนระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็นสำหรับการท่องเที่ยว
แต่ก็ยังขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศหนึ่งของทวีปแอฟริกาที่มีสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามน่าเที่ยวชม ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายแห่ง อย่างที่เมือง TIPAZA เมืองที่ตั้งอยู่ห่างจากเมืองหลวงแอลเจียร์ไม่ไกลนัก มีสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญคือ ROMAN RUINS ซากเมืองเก่าปรักหักพังแบบโรมัน ซึ่งอยู่ติดชายฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียน ซากเมืองเก่ายังคงปรากฏชัดทั้งแนวกำแพง และเสาหินต่างๆมีมองออกไปจะเห็นทะเลอยู่แค่เอื้อม ที่นี่ได้รับประกาศให้เป็นหนึ่งในมรดกโลกของแอลจีเรียในปีพ.ศ.2525
จะว่าไปแล้ว ในแอลจีเรียมีสถานที่ท่องเที่ยวชมโบราณสถานหลายแห่งเช่นกันทั้งที่ Kasbah of Algiers Miscellaneous เมืองโบราณแห่งศาสนาอิสลามแห่งชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เป็นเมืองเล็กๆบนเนินเขาติดทะเล มีป้อมปราการ สุเหร่าเก่าแก่รวมทั้งปราสาทราชวังสมัยอาณาจักรออตโตมันให้ได้ชม หรือจะเป็นที่ Djemila เป็นเมืองโบราณที่ตั้งอยู่บนที่สูง900เมตรเหนือระดับน้ำทะเล โดดเด่นด้วยลักษณะการออกแบบและการวางผังเมืองของโรมันในสภาพแวดล้อมแบบภูเขาสูง และที่ Timgad ก็อีกหนึ่งเมืองโบราณเป็นโรมันของแอลจีเรีย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองหลวงแอลเจียร์ ถูกสร้างโดยจักรพรรดิ Trajan ในก่อนคริสตกาลที่100 เป็นปราการไว้ต่อต้านการรุนรานของพวกเบอเบอ เป็นหนึ่งในเมืองแห่งการเกษตรของดินแดนทะเลทรายแห่งนี้ มีโรงละครแบบโรมันตั้งอยู่ด้วย และทั้งDjemila และ Timgad เป็นมรดกโลกพร้อมกันในปีพ.ศ.2525
สถานที่ท่องเที่ยวต่อมา คือ ในเขตของ "เทือกเขาอฮัคการ์"(The Ahaggar Montains) หรือ "ฮ็อคการ์" (Hoggar) เป็นเทือกเขาที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเมืองแอลเจียร์ เมืองหลวงของแอลจีเรีย โดยมีทุ่งราบกว้าง "อตาโกร์" (Atakor)หรือทุ่งราบการ์เดียอยู่ระหว่างกลาง
อฮัคการ์เป็นกลุ่มของภูเขาไฟที่ดับแล้ว มีชนเผ่าเร่ร่อนอย่างชนเผ่า "ตวาเร็ค" หรือ เบดูอิน อาศัยอยู่ในเทือกเขาอฮัคการ์ เลี้ยงชีพด้วยการเลี้ยงสัตว์ เช่น อูฐ แพะ เป็นต้น สัญลักษณ์ที่สำคัญของชาวตวาเร็คอย่างหนึ่งคือการปกปิดใบหน้าด้วยผ้าที่เรียกว่าติเกลมูส(tagelmust) ปิดจนเห็นเพียงดวงตาเท่านั้น
ยอดเขาที่สูงที่สุดในแอลจีเรีย คือ ยอดเขา "ตาฮัท" ที่มีความสูงถึง 2,918 เมตร ก็ตั้งอยู่ในเขตอฮัคการ์นี้เช่นกันอฮัคการ์ จัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากแห่งหนึ่งของแอลจีเรีย เพราะการเดินทางที่ท้าทายในทะเลทรายที่จะต้องเดินทางด้วยเท้าหรือรถโฟล์วิลเท่านั้น
อีกที่หนึ่งที่หากมาเที่ยวแอลจีเรียแล้วไม่ควรพลาดคือ ภูเขาTassili n'Ajjer ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของแอลจีเรีย มีภูมิประเทศงดงามแปลกตาด้วยการกัดกร่อนหินทรายขนาดมหึมาเป็นรูปลักษณ์ต่างๆ จุดเด่นที่สำคัญ คือ เป็นที่รวมของภาพเขียนยุคก่อนประวัติศาสตร์ของชาวแอลจีเรีย ที่วาดไว้ถามถ้ำหินต่างๆ มากกว่า15,000 ภาพ ทำให้เห็นวิวัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงของดินแดนเก่าแก่แห่งนี้ได้เป็นอย่างดี เช่น ภาพการอพยพขนย้ายสัตว์ การดำรงชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์อยู่ก่อนประวัติศาสตร์บนทะเลทรายซาฮาร่า เป็นต้น
ดินแดนแอฟริกาตอนเหนือแห่งนี้ จึงเป็นอีกที่หนึ่งที่มีพร้อมทั้ง ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ที่น่าสนใจทั้งยังเป็นที่หนึ่งซึ่งบรรจบกันของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลทรายซาฮาราอันยิ่งใหญ่ไว้ในประเทศเดียว ประเทศนี้ "แอลจีเรีย"
สถานที่ที่น่าในใจ ในประเทศแอลจีเรีย
Al Qala of Beni Hammad (อัลคาลาแห่งเบนีฮัมหมัด) พื้นที่อันงดงามของขุนเขา คือที่ตั้งของซากโบราณสถานอันเป็นเมืองหลวงแห่งแรกของเอเมียร์สกุลฮัมหมัด (Hammadid emirs ผู้นำในสกุลฮัมหมัด) ก่อตั้งขึ้นใน คริสต์ศักราช ๑๐๐๗ (พุทธศักราช ๑๕๕๐) และถูกทำลายลงใน คริสต์ศักราช ๑๕๕๒(พุทธศักราช ๑๖๙๕) พบหลักฐานของเมืองป้อมปราการของมุสลิมแบบดั้งเดิม มัสยิดที่เมืองนี้เป็นหนึ่งในมัสยิดที่ใหญ่ที่สุดในแอลจีเรีย
Tassili nAjjer (ทาสสิลี นาจเจอร์) แหล่งมรดกโลกที่ตั้งอยู่ในภูมิทัศน์ที่คล้ายโลกพระจันทร์ อันมีสภาพภูมิศาสตร์ที่น่าสนใจอย่างยิ่งแหล่งนี้ คือ กลุ่มถ้ำซึ่งเป็นแหล่งภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดแหล่งหนึ่งของโลก ภาพเขียนและภาพสลักมากกว่า ๑๕,๐๐๐ ภาพได้บันทึกเรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอพยพของสัตว์ และวิวัฒนาการของมนุษย์ในดินแดนชายขอบของทะเลทรายซาฮาราตั้งแต่ ๖,๐๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราชจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๑ (ราว ๕,๕๐๐ ปีก่อนพุทธศักราชถึงพุทธศตวรรษที่ ๖) ทิวทัศน์อันเกิดจากหินทรายที่ถูกกัดกร่อน ประกอบกันเป็นภาพของ “ป่าหิน” ที่มีความสวยงามโดดเด่น
MZab Valley (หุบเขามูซาบ) ในหุบเขามูซาบ เป็นที่ตั้งถิ่นฐานสำคัญของมนุษย์ที่สร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๐ (ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕) โดยชาวมุสลิมนิกายอิบาไดท์รอบ ๆ คซูร์ (ksour เมืองป้อมปราการ) ๕ แห่ง หมู่บ้านในหุบเขานี้ยังคงมีสภาพดั้งเดิม มีลักษณะเรียบง่าย ใช้สอยได้ดี และปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้อย่างสมบูรณ์แบบ สถาปัตยกรรมของมูซาบได้รับการออกแบบเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชน ขณะเดียวกันก็คำนึงถึงโครงสร้างของครอบครัว จึงเป็นแหล่งสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักวางผังเมืองยุคปัจจุบัน
Djémila (เจมิลา) เมืองเจมิลาหรือคุลคุล (Djémila or Culcul) ตั้งอยู่ที่ความสูง ๙๐๐ เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ประกอบด้วยจตุรัสกลางเมือง วัด บาซิลิกา (basilica อาคารที่ตกลงธุรกิจและตัดสินคดีความ) ประตูชัย และบ้านเรือน มรดกโลกแหล่งนี้เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของการวางผังเมืองแบบโรมันที่ปรับให้เข้ากับภูมิประเทศแบบภูเขาสูง
ข้อมูลประเทศแอลจีเรีย Algeria
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนแอลจีเรีย
People's Democratic Republic of Algeria
الجمهورية الجزائرية الديمقراطية الشّعبية
ที่ตั้ง แอลจีเรียตั้งอยู่ทางตอนเหนือของแอฟริกา ทิศตะวันออก ติดกับลิเบียและตูนิเซีย ทิศใต้ติดกับไนเจอร์ มาลี และมอริเตเนีย ทิศตะวันตก ติดกับโมร็อกโก ทิศเหนือ ติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
พื้นที่ 2,381,741 ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง กรุงแอลเจียร์ (Algiers)
ประชากร 37.9 ล้านคน (ประมาณการปี 2555)
ภูมิอากาศ อากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียนในภาค เหนือของประเทศ อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 25-30 องศาเซลเซียส ในฤดูร้อน (พฤษภาคม - สิงหาคม) 8-15 องศาเซลเซียสในฤดูหนาวและมักมีหิมะตกในบริเวณเทือกเขา Kabylie มีอากาศแบบทะเลทรายในภาคใต้และภาคกลาง อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 30-45 องศาเซลเซียส
ภาษา อารบิกเป็นภาษาประจำชาติ (ภาษาต่างประเทศที่ใช้ทั่วไป คือ ฝรั่งเศส และมีภาษาท้องถิ่น)
ศาสนา ศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่เป็นศาสนาประจำชาติ (ร้อยละ 99) ศาสนาคริสต์และยิว (ร้อยละ 1)
ระบบการปกครอง มีระบบการปกครองแบบสาธารณรัฐ โดยมีประธานาธิบดีเป็นผู้นำของประเทศ มีการบริหารประเทศโดยพรรคร่วมรัฐบาล
ประธานาธิบดี นายอับเดลอาซิซ บูทิฟลิกา (Abdelaziz Bouteflika)
นายกรัฐมนตรี นายอับเดลมาเลค เซลลัล (Abdelmalek Sellal)
วันชาติ 1 พฤศจิกายน
วันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย 6 ธันวาคม 2518
GDP 274.5 พันล้าน USD (2555)
GDP per Capita 7,500 USD (2555)
Real GDP Growth ร้อยละ 2.6 (2555)
สกุลเงิน ดีนาร์แอลจีเรีย (1 บาท = 2.52 DZD) สถานะ ณ วันที่ 29 สิงหาคม 2556
อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 8.5 (2555)
การเมืองการปกครอง
ประวัติศาสตร์โดยสังเขป
ชนเผ่าดั้งเดิมของแอลจีเรีย คือ พวก Berber แอลจีเรียเคยอยู่ภายใต้การปกครองของพวกโรมันกว่า 500 ปี และในคริสต์ศตวรรษที่ 7 พวกอาหรับได้เข้ามายึดครองแอฟริกาเหนือ และได้เปลี่ยนศาสนาของพวก Berber เป็นมุสลิม
ต่อมา ในปี 2373 ฝรั่งเศสได้รุกรานแอลจีเรีย และถือเอาแอลจีเรียเป็นส่วนหนึ่งของฝรั่งเศส ระหว่างปี 2497 - 2498 ได้มีการลุกขึ้นต่อต้านการยึดครองของฝรั่งเศสนำโดย Front de liberation nationale (FLN) จนกลายเป็นสงครามใหญ่ และมีผู้เสียชีวิตกว่า 1 ล้านคน ในปี 2505 ประธานาธิบดี Charles de Gaulle ของฝรั่งเศสได้เจรจาสันติภาพกับแอลจีเรียเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2505 ซึ่งนำไปสู่การประกาศเอกราชของแอลจีเรีย
ต่อมาในเดือนตุลาคม 2506 นาย Ahmed Ben Bella หัวหน้ากลุ่ม FLN ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และได้นำระบบสังคมนิยมมาใช้ แต่ได้ถูกรัฐประหารโดย Colonel Houari Boumedienne ในปี 2508 ซึ่งปกครองประเทศจนถึงแก่กรรมในปี 2521
การเมืองการปกครอง
แอลจีเรียมีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว คือ พรรค FLN มาจนกระทั่งมีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในเดือนธันวาคม 2534 ซึ่งมีการลงสมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองหลายพรรค ผลปรากฎว่า พรรค Front islamique du salut (FIS) ชนะการเลือกตั้ง แต่โดยที่พรรค FIS เป็นพรรคที่สนับสนุนกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง อีกทั้งยังมีกองกำลังติดอาวุธของพรรค (Armee islamique du salut หรือ AIS) ฝ่ายทหารจึงตัดสินใจประกาศยกเลิกผลการเลือกตั้ง และสลายพรรค FIS จากนั้นได้ตั้งสภาสูงแห่งชาติ (Higher Council of State) ขึ้นบริหารประเทศเป็นการชั่วคราว และจัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีขึ้นใหม่ในปี 2538 ผลปรากฎว่านาย Liamine Zeroual ชนะการเลือกตั้งอย่างเป็นธรรม
4 ปีต่อมา ฝ่ายทหารพยายามกลับเข้ามามีอิทธิพลทางการเมืองอีกครั้ง โดยสนับสนุนให้นาย Abdelaziz Bouteflika ลงสมัครรับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2542 โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งคนอื่น ๆ ได้ถอนตัวจากการลงสมัครก่อนหน้าวันเลือกตั้งเพียง 1 วัน
ต่อมาในปี 2547 นาย Bouteflika ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 และก่อนที่นาย Bouteflika จะหมดวาระจากตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2552 นาย Bouteflika ได้แก้ไขรัฐธรรมนูญอนุญาตให้ผู้นำทางการเมืองสามารถดำรงตำแหน่งมากกว่า 2 สมัย ดังนั้นในเดือนเมษายน 2552 นาย Bouteflika จึงได้ลงสมัครแข่งขันในการเลือกตั้งอีกครั้งและได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น เป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน
นาย Bouteflika มีนโยบายพยายามแก้ไขปัญหากลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง และสร้างความสมานฉันท์ในชาติ โดยการปลดปล่อยกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงที่กลับใจออกจากคุกและมีการนิรโทษกรรมกองกำลังติดอาวุธที่ยอมร่วมมือกับฝ่ายรัฐบาล ตามบทบัญญัติใน Charter for Peace and National Reconciliation ซึ่งเป็นนโยบายหลักของนายบูเตฟลิกาเมื่อครั้งเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี โดยมีใจความสาระสำคัญว่า รัฐบาลจะเดินหน้าต่อต้านการก่อการร้ายทุกรูปแบบ แต่รัฐก็ยังยินดีที่จะต้อนรับผู้ที่กลับตัวกลับใจ แต่กระนั้น ก็ยังมีกลุ่มหัวรุนแรงบางกลุ่มที่ยังไม่มีท่าทียินยอมต่อรัฐบาล ได้แก่ Groupe islamique armee และ Groupe Salafiste pour la predication et le combat
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นฉบับที่ได้รับการแก้ไขเมื่อปี 2539 กำหนดให้รัฐสภาประกอบด้วย 2 สภา ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร (Assemblee populaire nationale หรือ APN) มีสมาชิก 389 คน ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง มีวาระละ 5 ปี และมีสภาที่ปรึกษาแห่งชาติ (Conseil de la Nation หรือ CN) มีสมาชิก 144 คน โดย 96 คน ได้รับเลือกทางอ้อมจากประชาชน และประธานาธิบดีแต่งตั้งอีก 48 คน มีวาระละ 6 ปี โดยรัฐธรรมนูญระบุให้สมาชิกครึ่งหนึ่งของสภาที่ปรึกษาแห่งชาติ ต้องมีการสับเปลี่ยนทุก ๆ 3 ปี ประธานาธิบดีดำรงฐานะเป็นประมุขของรัฐ และมาจากการเลือกตั้งโดยตรงทุก 5 ปี มีอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศโดยการแต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี
ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2552 นาย Bouteflika ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่สามด้วยวัย 72 ปี หลังจากที่สภาได้มีมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีผลให้ประธานาธิบดีสามารถดำรงตำแหน่งมากกว่าสองสมัยได้ ทั้งนี้ นโยบายทางการเมืองของนาย Bouteflika ล้วนแล้วเป็นนโยบายที่รัฐบาลของเขามีมาตั้งแต่ต้น ซึ่งเน้นด้านความมั่นคงและการลงทุน นาย Bouteflika ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าเขาจะหาเงินสนับสนุนในการพัฒนาเศรษฐกิจของสังคม เป็นจำนวนเงิน 150 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในช่วงปี 2552-56 และยังให้คำมั่นสัญญาที่จะคงไว้ซึ่งนโยบายสมานฉันท์แห่งชาติ โดยมีสาระสำคัญว่า รัฐบาลจะเดินหน้าต่อต้านการก่อการร้ายทุกรูปแบบ แต่รัฐก็ยังยินดีที่จะต้อนรับผู้ที่กลับตัวกลับใจ ทั้งนี้ ในการเลือกตั้งล่าสุดนั้น พรรคการเมืองหลักๆได้คว่ำบาตรการเลือกตั้ง เนื่องจากเห็นว่าอย่างไรเสียนาย Bouteflika ก็ยังคงได้รับเลือกต่อไป แต่ด้วยปัญหาทางสุขภาพของนาย Bouteflika จึงเป็นที่น่าจับตามองว่านาย Bouteflika จะสามารถดำรงตำแหน่งได้นานเพียงใด มีการคาดการณ์ว่าน้องชายของนาย Abdelaziz Bouteflika คือ นาย Said Bouteflika จะจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความแตกแยกในพรรคร่วมรัฐบาลได้
การได้มาซึ่งตำแหน่งของนาย Bouteflika สร้างความไม่พอใจเป็นอย่างมากให้แก่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล รวมถึงกลุ่มเสรีนิยมและกลุ่ม Islamists ซึ่งต่างออกมาวิจารณ์ว่า เป็นการเลือกตั้งที่มีการทุจริตและผลการเลือกตั้งเป็นไปตามที่ได้มีการกำหนด ไว้ล่วงหน้า ในช่วงระยะเวลาก่อนการเลือกตั้งนั้นอัตราการก่อความไม่สงบโดยกลุ่มทหาร Islamist ได้เพิ่มขึ้นและคาดว่าจะเพิ่มเรื่อยๆ ในสมัยรัฐบาลของนาย Bouteflika โดยกลุ่มดังกล่าวมุ่งเน้นการโจมตีสถานสำคัญด้านความมั่นคง (สถานีตำรวจ ฐานทัพทหาร) ฝ่ายความมั่นคงของแอลจีเรียเองก็ได้มีความพยายามที่จะจับกุมสมาชิกของกลุ่ม ทหารดังกล่าวร่วมถึงการเพิ่มมาตรการความปลอดภัยในสถานที่สำคัญๆ ด้วย
อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ Arab Spring ที่นำไปสู่การปฏิวัติในประเทศเพื่อนบ้านทำให้ประธานาธิบดี บูเตฟลิกามีมาตรการลดเงื่อนไขและโอนอ่อนผ่อนปรนต่าง ๆ เพื่อลดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งอาจนำไปสู่การประท้วงขับไล่รัฐบาล เช่น มีการให้สัญญากับประชาชนว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งในเดือนเมษายน 2556 ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้น มีการยกเลิกกฎหมายภาวะฉุกเฉินที่ใช้มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2535 มีการลดราคาสินค้าที่จำเป็น เช่น น้ำมัน น้ำตาลและอาหาร การสร้างที่อยู่อาศัย และการให้สินเชื่อ/เงินให้เปล่าเพื่อธุรกิจ มาตรการต่าง ๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่มีผลทำให้กระแส การต่อต้านรัฐบาลอ่อนกำลังลง และสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติในที่สุด
อย่างไรก็ดี ด้วยปัญหาทางได้สุขภาพของนายบูเตฟลิกา จึงเป็นที่น่าจับตามองว่านายบูเตฟลิกาจะสามารถดำรงตำแหน่งได้นานเพียงใด และเริ่มมีกระแสการคาดคะเนถึงผู้ที่จะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป
นโยบายต่างประเทศ
ในช่วงปี 2503 - 2513 แอลจีเรียมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนนโยบายของประเทศโลกที่สาม และขบวนการเรียกร้องเอกราชต่าง ๆ การดำเนินการทางการทูตของแอลจีเรียมีส่วนสำคัญในการปลดปล่อยตัวประกันชาว สหรัฐฯ ที่อิหร่าน เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2524 (ความตกลงแอลเจียร์) นอกจากนี้ แอลจีเรียยังมีบทบาทนำในเรื่องต่าง ๆ ของทวีปแอฟริกา เช่น การเป็นเจ้าภาพจัดประชุมขององค์การเอกภาพแอฟริกา (OAU) ในปี 2543 และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญทีทำให้เอธิโอเปีย และเอริเทรียยอมมาเจรจาสันติภาพ ในปี 2543 นอกจากนี้ แอลจีเรียยังมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศในแอฟริกาอื่นๆ ในการก่อตั้งหุ้นส่วนใหม่เพื่อการพัฒนาของแอฟริกา (New Partnership for African Development-NEPAD) และในองค์การ Arab Maghreb ด้วย
แอลจีเรียให้การสนับสนุนกลุ่ม Polisario ซึ่งอ้างตัวว่าเป็นผู้แทนของประชาชนในดินแดนซาฮาราตะวันตก และปฏิเสธการที่โมร็อกโกจะเข้าไปปกครองดินแดนดังกล่าว จึงยังคงมีการปิดพรมแดนระหว่างแอลจีเรีย และโมร็อกโก โดยต่างฝ่ายต่างกล่าวหากันว่า ให้ที่พักพิงแก่กองกำลังติดอาวุธ และการลักลอบขนอาวุธ อย่างไรก็ดี สถานการณ์ได้คลายความตึงเครียดลง เมื่อกษัตริย์โมฮัมเหม็ดที่ 6 แห่งโมร็อกโกได้เข้าร่วมประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศอาหรับที่จัดขึ้นที่ แอลจีเรียระหว่างวันที่ 22 - 23 มีนาคม 2548 และได้หารือทวิภาคีกับประธานาธิบดี Bouteflika หลังเสร็จสิ้นจากการประชุม โมร็อกโกได้ยกเลิกการตรวจลงตราสำหรับชาวแอลจีเรียตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2537 และแอลจีเรียได้ยกเลิกการตรวจลงตราแก่ชาวโมร็อกโกตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2538 แต่ยังปิดพรมแดนทางบกระหว่างกันอยู่
แอลจีเรียมีความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านใน Maghreb คือ ตูนีเซีย และลิเบีย รวมทั้งมาลี และไนเจอร์ และสนับสนุนสิทธิของชาวปาเลสไตน์ในปัญหาตะวันออกกลาง ในช่วงของรัฐบาลของนาย Bouteflika ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของแอลจีเรียได้ฟื้นฟูขึ้นหลังจากตกต่ำเป็นอย่าง มาก ประเทศตะวันตกได้จัดให้แอลจีเรียเป็นประเทศพันธมิตรที่สำคัญในการรณรงค์การ ต่อต้านกลุ่มทหารอิสลามหัวรุนแรง และทั้งนี้แอลจีเรียเป็นประเทศที่ส่งออกก๊าซให้แก่กลุ่มประเทศ EU คิดเป็นร้อยละ 25 ของทั้งหมด ส่งผลให้ความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของแอลจีเรียยิ่งเพิ่มมากขึ้นต่อภูมิภาค ยุโรป สาเหตุเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความไม่มั่นคงด้านพลังงานก๊าซจากรัสซีย
การดำเนินนโยบายต่างประเทศของประเทศแอลจีเรียต่อประเทศฝรั่งเศสนั้นเน้น นโยบายที่เป็นกลาง ทั้งนี้ เดิมแอลจีเรียเป็นประเทศเมืองขึ้นของฝรั่งเศส แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนาย Nicolas Sarkozy ประธานาธิบดีของฝรั่งเศสได้มีความพยายามที่จะดำเนินนโยบายทวิภาคีเพื่อส่ง เสริมความร่วมมือในด้านพาณิชย์และการจัดหาพลังงานกับแอลจีเรียเพิ่มมากขึ้น
ความสัมพันธ์กับประเทศสหรัฐอเมริกามีความแน่นแฟ้นเนื่องจากทั้งสองประเทศมี ประสบการณ์ที่คล้ายกัน ทั้งนี้ แอลจีเรียมีประสบการณ์ในการจัดการกับกองกำลังทหารกลุ่ม Islamist ซึ่งทำให้แอลจีเรียเป็นที่จับตามองนับตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11นอกจากนั้น แอลจีเรียภายใต้ นาย Abdelaziz สนับสนุนนโยบาย "war on terror" ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศตะวันตกผ่อนคลายการกดดันให้รัฐบาลของแอล จีเรียปฎิรูปการปกครอง ทั้งนี้สหรัฐอเมริกายังเป็นคู่ค้าที่สำคัญของแอลจีเรียโดยเฉพาะด้านน้ำมัน และก๊าซ สหรัฐอเมริกายังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือในการพัฒนา อุตสาหกรรมด้านน้ำมันและก๊าซด้วยเม็ดเงินลงทุนเป็นจำนวนเงิน 5.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับว่าเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในภาคส่วนอุตสาหกรรมปิโตรเลียม
เศรษฐกิจและสังคม
แอลจีเรียเป็นประเทศที่มีก๊าซธรรมชาติสำรองมากเป็นอันดับที่ 9 (2553) และเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติรายใหญ่เป็นอันดับที่ 7 (2553) และมีน้ำมันสำรองมากเป็นอันดับที่ 18 (2556) ของโลก การส่งออกสินค้าพลังงานจึงมีความสำคัญที่สุดต่อเศรษฐกิจของแอลจีเรีย กล่าวคือมีมูลค่าประมาณร้อยละ 36 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ และกว่าร้อยละ 97 ของรายได้จากการส่งออก คู่ค้าน้ำมันและก๊าซที่สำคัญของแอลจีเรียได้แก่ อิตาลีเยอรมนี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ สเปน สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ดี การผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของแอลจีเรียลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยผลพลอยได้จากราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้รัฐบาลยังคงสามารถใช้รายได้จากภาคพลังงานในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ ได้ โดยในปี 2554 อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของแอลจีเรียคิดเป็นร้อยละ 2.6
รัฐบาลเร่งการเปิดเสรีเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะภาคสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น โทรคมนาคม พลังงาน น้ำประปา และการก่อสร้าง เปิดโอกาสให้บริษัทต่างชาติสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาภาคเศรษฐกิจเหล่านี้ ได้มากขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ผ่านการพิจารณากฎหมายปรับปรุงระบบบริหารทรัพยากรน้ำมัน ส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจทรัพยากรน้ำมันมีความโปร่งใสขึ้นสำหรับนักลงทุนชาวต่าง ชาติ รัฐบาลยังมีนโยบายที่จะจัดระเบียบและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ให้เป็นระบบมากขึ้น รวมทั้งการบริหารสื่อกลางทางการเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
ความท้าทายทางเศรษฐกิจของแอลจีเรียในระยะสั้นและระยะกลาง คือ การสร้างความหลากหลาย ทางเศรษฐกิจเพื่อลดการพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ ยังต้องพยายามผลักดันการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ และการเงินการธนาคาร เพื่อเป็นการเสริมสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อธุรกิจและการลงทุน และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างภูมิภาคต่าง ๆ ในประเทศ นอกจากนี้รัฐบาลยังต้องแก้ไขปัญหาการว่างงานในหมู่เยาวชน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่อีกปัญหาหนึ่งที่แอลจีเรียกำลังเผชิญอยู่อีกด้วย
ความสัมพันธ์
ความสัมพันธ์ทั่วไป
ด้านการทูต
ไทยกับแอลจีเรียสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2518 โดยไทยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส มีเขตอาณาครอบคลุมแอลจีเรีย แอลจีเรียมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตแอลจีเรียประจำมาเลเซีย มีอาณาครอบคลุมประเทศไทย
ในเดือนพฤษภาคม 2546 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในแอลจีเรียทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,000 คน รัฐบาลไทยได้บริจาคเงินช่วยเหลือแก่รัฐบาลแอลจีเรียเป็นเงินจำนวน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ
แอลจีเรียได้ให้การดูแลบริษัท ปตท.สผ.ฯ ซึ่งได้ไปลงทุนร่วมในแอลจีเรีย ตั้งแต่ปี 2547 เป็นอย่างดี รวมทั้งให้การสนับสนุนไทยในเวทีโลกมาโดยตลอด
แม้ความสัมพันธ์ราบรื่นและไม่มีปัญหาทางการเมืองระหว่างกัน แต่ค่อนข้างห่างเหิน การเยือนที่สำคัญ ได้แก่ การเยือนของนายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2548 และการเยือนของนายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อปี 2548
ด้านเศรษฐกิจ
มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับแอลจีเรียยังมีมูลค่าไม่สูงนัก โดยในปี 2555 มีมูลค่ารวม 1,019 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 242.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 776.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยขาดดุลการค้าเป็นมูลค่า 534.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าที่ไทยส่งออก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์
และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ข้าว เม็ดพลาสติก ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ
สินค้าที่ไทยนำเข้าจากแอลจีเรีย ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ
ในปี 2555 มีนักท่องเที่ยวชาวแอลจีเรียเดินทางมาไทย 3,000 คน และมีคนไทยอยู่ใน แอลจีเรีย 383 คน
ยู. แทรเวล วาเคชั่นส์ ให้บริการทำแลนด์แอลจีเรียแก่บริษัททัวร์ทั่วประเทศ จัดทัวร์แอลจีเรีย จัดทำแพคเกจทัวร์แอลจีเรีย จัดคณะทัวร์แอลจีเรีย บริการข้อมูลท่องเที่ยวแอลจีเรีย จัดหาตั๋วเครื่องบินสู่ประเทศแอลจีเรีย จองโรงแรมที่พักแอลจีเรีย จัดประชุมสัมนาที่ประเทศแอลจีเรีย งานแสดงสินค้าที่ประเทศโมแอลจีเรีย รถทัวร์แอลจีเรีย วีซ่าแอลจีเรีย ศึกษาต่อแอลจีเรีย
รับจัดทัวร์แอลจีเรียกรุ๊ปพิเศษ สำหรับท่านที่สนใจเดินทางไปสัมผัสประเทศแอลจีเรีย ด้วยตนเอง
ติดต่อ ยู. แทรเวล วาเคชั่นส์ แลนด์แอลจีเรียในประเทศไทย
หมายเลข 02-4282114 (Auto)
อีเมล์ u.travel@hotmail.com